Ukulele ตกลงมันเรียกว่าอะไรกัน?

Ukulele ตกลงมันเรียกว่าอะไรกัน?

อูคูเลเล่เริ่มมีตัวตนในประเทศไทยอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมาได้กว่า 12 ปีแล้ว แต่เป็นเรื่องประหลาดที่ยังพบว่าเรียกกันไปต่างๆ นาๆ บางแบบก็พอได้ บางแบบนี่ออกนอกลู่นอกทางไปเลย ซึ่งพบได้บ่อยมากๆ ครับ สำหรับหลายๆ ท่านที่อ่านบทความนี้ เปิดใจสักนิด แล้วมาดูกันครับว่า Ukulele ตกลงมันเรียกว่าอะไรกัน ซึ่งจะเรียกอย่างไรก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ถ้าจะเรียกให้ได้เหมือนต้นกำเนิดจริงๆ นั้นก็เป็นสิ่งที่ดี เหมือนเวลาคนเรียกชื่อเรา ถ้าเรียกชัดหน่อย เราก็หัน บางทีคนต่างชาติพยายามเรียก แต่เรียกสำเนียงเพี้ยนไปมาก เรายังไม่รู้เลยว่าเขาเรียกเรา

สำหรับ Ukulele เริ่มต้นเลย วิธีที่เรียกผิดอย่างไม่ต้องสงสัยคือที่สุดคือ เรียก Ukulele ว่า "กีตาร์"!!! ใช่ครับ มีคนเรียก Ukulele ว่ากีตาร์อยู่ ผมโดนเองมากับตัวเอง แถวโดนในกองถ่ายทำชุดสื่อการสอน Ukulele แบบเป็นเรื่องเป็นราวด้วย ส่วนที่เจอบ่อยๆ อีกแบบก็มี "กีตาร์จิ๋ว" ซึ่งถ้ากีตาร์จิ๋ว มันต้องมีหกสาย ตัวเล็กๆ ใกล้เคียงสุดอาจเป็น Guitarlele แต่ไม่ใช่ Ukulele แน่ๆ

มาถึงตรงนี้ ผมมักโดนบ่นว่าอย่าไปซีเรียสนักเลย กับแค่การเรียกชื่อผิดแค่นี้ ผมเลยต้องตั้งคำถามว่า ถ้ามีคนมาเรียกเราที่เป็นคนไทย เป็นคนชาติอื่น เราก็ต้องรีบบอกเขาให้เรียกให้ถูกใช่ไหมครับ แต่นี่มันแตกต่างยิ่งกว่าคนละชาติ มันคือคนละสายพันธุ์เสียยิ่งกว่า คน กับ คิงคอง อีก เพราะคนกับคิงคอง มีสองมือ สองเท้า เหมือนกัน แต่ Ukulele มี 4 สาย และ กีตาร์มี 6 สาย ต่างกันกว่าอีกนะครับ


(บู๊ทที่ผมได้เมื่อครั้งไปเผยแพร่ Ukulele ที่ Music Fair มาถึงงานผมตกใจ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้)

อีกหนึ่งตัวอย่างที่พอผมได้ยิน ผมจะนึกไปถึง Ukulele ยี่ห้อหนึ่งของลุง Todaro ผู้ผลิตอูคูเลเล่แบรนด์ Akulele หรือ "อะคูเลเล่" นี่เอง ซึ่ง "อะคูเลเล่" นี่คือชื่อแบรนด์   Ukulele แบรนด์หนึ่ง แต่ไม่ใช่ชื่อเครื่องดนตรีนี้ ซึ่งมันก็คือ Ukulele ที่ลุง Todaro ให้ช่างที่อเมริกาใต้สร้างขึ้นมาด้วยการคว้านไม้ แทนที่จะเอาไม้มาประกอบกัน ผมเดาว่าน่าจะเป็นช่างทำ Charango เครื่องดนตรีเครือญาติห่างๆ ของ Ukulele 

สำหรับ Akulele ผมมั่นใจว่าน่าจะไม่มีใครรู้จักเจ้า Ukulele แบรนด์นี้นักแน่ๆ เมืองไทยก็อาจจะไม่มีแบรนด์นี้สักตัว เพราะตอนผมไปเจอลุง Todaro ที่อเมริกา ลุงมักของหมดตลอด และไม่ค่อยสนใจจะส่งของข้ามโลกนัก 

akulele 

ด้านหน้าของ Ukulele ยี่ห้อ อะคูเลเล่ 

akulele

ด้านหลังของ Ukulele ยี่ห้อ อะคูเลเล่



ภาพลุง Todaro ที่ผมตั้งใจเดินไปหาที่บู๊ทใน NAMM Show เพื่อสัมผัส อะคูเลเล่สักครั้ง และนำช้างไม้ไปมอบให้แก (ในมือ) ผมไปคนเดียวเลยถ่ายภาพนี้ไว้เมื่อปี 2011 ยุคนั้นเซลฟี่ไม่มี เพราะใช้กล้องถ่ายรูปอยู่เลยครับ

เล่าเสียยืดยาวเพียงเพื่อจะบอกว่า อะคูเลเล่ มันหมายถึงเจ้าตัวที่เห็นในภาพข้างบนนี้เท่านั้น อาจจะมีรุ่นอื่นบ้าง แต่จะเป็นผลผลิตของลุง Todaro เท่านั้น ผมไม่ทราบว่าทำไมชาวไทยทำให้ยี่ห้อแกดังข้ามทวีปทั้งๆ ที่ไม่ได้โปรโมทใดๆ เลย ถ้าแกรู้คงดีใจ จริงๆ ผมก็ผ่านบู๊ทแกทุกปี แต่หลังๆ ไม่ได้แวะคุยแล้ว เพราะเสียง อะคูเลเล่ตำรับนี้ สำหรับผมไม่ถูกใจ

คราวนี้มาถึงออริจินัลกันครับ มาฮาวายกันเลย ที่นี่เป็นที่แรกเริ่มกำเนิด Ukulele และเขาเรียกมันว่า "อูคูเลเหล่" ซึ่งมีการเน้นออกเสียงในรูปแบบของเขา แต่ผมเอามาเขียนว่า "อูคูเลเล่" เพราะรู้สึกว่าใกล้ๆ เคียง และฟังดูน่ารักดี ทั้งการเขียนการอ่าน ผมว่าเหมาะสมกับภาษาไทย ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเป็นคนแรกไหม แต่ตั้งแต่แรกเริ่มเลย ผมก็เรียกแบบนี้ และเขียนแบบนี้ ซึ่งคนแรกๆ ของวงการยุคปัจจุบันก็น่าจะผมนี่แหละครับ ส่วนในยุคโบราณสมัยก่อนเขาเรียกมันแบบคนไทยเรียกเองว่า คอร์ดน้อยบ้าง กีตาร์ฮาวายบ้าง ซึ่งไม่ใช่ชื่อจริงๆ ของมัน

มาฟังวิธีเรียก อูคูเลเล่ แบบ ฮาวาย กันครับ



จะเห็นว่าออกเสียงว่า "อู คู เล เหล่" หรือบางทีก็ "อู คู เล้ เหล่" แล้วแต่รูปประโยคครับ  นี่คือวิธีเรียกที่แท้จริง โดยคำว่า อูคู แปลว่าหมัด (ตัวหมัดแบบบนหมา) เลเหล่ แปลว่า กระโดด รวมกัน อูคูเลเหล่ แปลว่า หมัดกระโดด ซึ่งคือความหมายของคำว่า Ukulele ที่เรียกชื่อตามที่คนฮาวายเห็นผู้เล่นอูคูเลเล่ใช้นิ้วขยับไปมาบนคออูคูเลเล่ คล้ายตัวหมัดกระโดด จึงได้ชื่อนี้มา ซึ่งเท่าที่พบมา คนฮาวายจะไม่ค่อยปลื้มกับสำเนียงเรียก อูคูเลเล่ ของ อเมริกัน หรือ อังกฤษ นัก เพราะมันผิดเพี้ยนไปมาก จนความหมายไม่ได้

คราวนี้มาดูคนอเมริกันเรียกกันบ้างครับ ชาวอเมริกันหรือคนอินเตอร์ทั้งหลาย เวลาเรียกอะไรที่มาจากภาษาต่างชาติ มักออกเสียงตามสะดวก จนบางทีฟังแทบไม่รู้ว่าจริงๆ กำลังเรียกอะไรอยู่ ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ คาราโอเกะ กลายเป็น คารีโอกี่ หรือเอาใกล้ๆ ตัวอย่าง บางกอก ก็เป็น แบงค็อค ซึ่งพอมาถึงคราวของ อูคูเลเล่ (ขอเขียนแบบนี้นะครับ เพราะที่ไทยมันแบบนี้) ก็กลายเป็น ยู คา เล ลี่ ไปโดยปริยาย ฟังดูน่ารัก แต่จริงๆ ผิดนะครับ ทว่าคนเรียกเยอะจนมันกลายเป็นถูก แต่หากคุณก้าวเท้าเหยียบเกาะฮาวาย มันคือ อูคูเลเหล่ ครับ ส่วนคนอังกฤษ ออสเตรเลีย เท่าที่ผมเจอจะเรียกแบบอเมริกันบ้าง เรียก ยู คา ลี ลี่ บ้าง ยู คี ลี ลี บ้าง แต่บางคนที่เข้าถึงฮาวาย และเคารพชื่อจริงๆ ของอูคูเลเล่ ก็เรียกแบบดั้งเดิมก็มี



สำหรับเรื่องการเรียกที่เพี้ยนไปของผู้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก มีคนฮาวายเชื้อสายเอเชียเคยเอามาถกเถียง ถ้าสนใจเชิญคลิ๊ปนี้ครับ

ขอกลับมาที่ไทยครับ ผมมีเรื่องติดค้างคาใจอยู่เรื่อง นั่นคือใน wikipedia ของไทย ได้มีการระบุว่า อูคูเลเล่ เรียกว่า "อูกูเลเล" ซึ่งผิดอย่างแน่นอน เนื่องจากภาษาฮาวายไม่มีเสีย ก เขามีแต่เสียง ค และตัว K นั้นต้องใช้ ค ควาย ล้วนๆ ไม่มีการออกเสียง กอไก่ แน่ๆ ครับ ผมเคยพยายามเข้าไปแก้ไขแล้วไม่สำเร็จ มันผิดทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ที่เรียกตามแบบอเมริกัน 



ส่วนจะเขียน เลเล ลงท้าย อันนี้ผมไม่ติดขัด ในใจนั้นติด แต่ครูบอลผู้เคยเป็นกองบ.ก. นสพ. ดังมาก่อน ตอนแกออกหนังสือก็ยังเขียน อูคูเลเล แบบไม่มีไม้เอก แกเรียนเอกภาษาไทยมา น่าจะเป็นวิธีเขียนตามหลักการที่เขาสอนกันมา ผมก็เสียดาย ภาษาไทยเขียนผันได้แทบจะเหมือนเป๊ะกับการออกเสียงทุกภาษา แต่ดันถูกใช้ให้สื่อออกมาเพี้ยนไปเพราะกฏเกณฑ์ทางภาษาเขียน ที่ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมไม้เอกถึงมีเพิ่มมาไม่ได้ ทั้งๆ ที่เวลาเราเรียกก็ออกเสียงแบบนั้น



อย่างไรก็ตาม อูคูเลเล ยังดีเสียกว่า อูกูเลเล หลายเท่านัก แต่ถ้าอยากให้คนอ่านออกมาแล้วถูกใจคนฮาวาย ถูกต้องตามตำรับ อูคูเลเล่ คือสวยสุด หรือใครจะบ้าบิ่นใช้ อูคูเลเหล่ (เน้นน้ำนักเสียงที่เลเยอะๆ) ไปเลยครับ

คราวนี้มาดูญี่ปุ่นกันบ้างครับ การเรียก อูคูเลเล่ ของญี่ปุ่น ผมชอบมาก เพราะภาษาเขามีข้อจำกัดการออกเสียงมากๆ บางตัวอังษรเขาไม่มีทางออกเสียงได้ เพราะไม่มีตัวหนังสือรองรับก็มี เช่นตัว V เป็นต้น จะออกเสียงเป็น บิ หรือ บุย แทน โชคดีที่ Ukulele นั้นญี่ปุ่นมีตัวสะกดคล้าย นั่นคือ ウクレレ หรือ อุ คุ เระ เระ ฟังดูคล้ายของจริง และมีความน่ารัก


(U900 ศิลปินดูโอ้หมีกระต่าย ที่โด่งดังมากเมื่อ 10 ปีก่อน และยังคงเป็นที่นิยมจนปัจจุบัน)

สำหรับการเรียกแบบญี่ปุ่นนั้น เป็นที่มาของอูคูเลเล่รุ่นยอดฮิตของ aNueNue รุ่น U900 เลยนะครับ เพราะเขาเล่นกับภาษาญี่ปุ่น ที่เอาคำมา อุ แยกออกมา แล้วให้หมายถึง อุซางิ แปลว่า กระต่าย กับคำว่า คุ ให้หมายถึง คุมะ แปลว่าหมี ในขณะเดียวกัน คุ ก็แปลว่า 9 ด้วย และ เระ แปลว่า 0 ทำให้กลายเป็นรุ่น U900 ขึ้นมา ซึ่งถ้าให้แปลตรงๆ คือ ยูเก้าศูนย์ศูนย์ แต่ผมเองอยากให้เรียกกันง่ายๆ เลยเรียกว่า ยูเก้าร้อย และผมก็คิดว่าคิดไม่ผิดจริงๆ เพราะอูคูเลเล่รุ่นนี้ได้เคยสร้างตำนานเครื่องดนตรีไทยมาแล้ว ใครจะรู้ ถ้าเรียก ยูเก้าศูนย์ศูนย์ อาจจะไม่เกิดปรากฏการณ์อย่างที่เคยเกิดก็ได้

u900 อูคูเลเล่
U900 หมี

U900 กระต่าย
U900 กระต่าย

ขอปิดท้ายด้วยการเรียกแบบจีนครับ อันนี้ขออ้างอิงจากไต้หวันนะครับ เพราะผมจะทำงานกับชาวจีนไต้หวันมากกว่า แต่คิดว่าคงไม่แตกต่างกันกับจีนแผ่นดินใหญ่มากนัก ที่เพื่อนผมเรียกคือ อู เข่อ ลี ลี่ บางทีก็ได้ยิน ยู เข่อ ลี ลี บางทีก็ วู เข่อ ลี ลี่ ประมาณนี้ครับ ท่านผู้อ่านลองไปฟังดูเองจากเพลงของ Jay Chou ดูดีกว่า เพลงนี้ออกมาตอนที่อูคูเลเล่บูมมากๆ MV สนุกดี เพลงก็สนุกเช่นกันครับ


(From Jay Chou Offcial YouTube)

สรุปแล้ว ท้ายที่สุดจะเรียกอย่างไร ถ้ามีใจอยากเล่นอูคูเลเล่ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะนี่คือเครื่องดนตรีแห่งความสุข ที่ทั้งน่ารัก และเท่ในตัวเดียวกัน แต่ถ้าอยากเรียกให้ถูกต้องก็ตามที่เล่าครับ ส่วนผมก็ขอเรียก อูคูเลเล่ นี่แหละ เพราะเรียกมากว่า 12 ปีแล้ว แถมเรียกทุกวัน ไม่มีวันไหนไม่ได้พูด ไม่ได้ยิน ไม่ได้อ่าน หรือไม่ได้เขียนคำนี้เลย

ผมขอปิดท้ายด้วยเพลง "อูคูเลเล่ ฉันรักเธอ" ที่ผมแต่งไว้ และร้องโดย สิงโต นำโชค บนเวที Thailand Ukulele Festival ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2012 ครับ งานนี้มีศิลปินชั้นนำจาก 12 ประเทศ มาร่วมบรรเลงเพลงอูคูเลเล่กันที่ลานพาร์คพารากอน ยาวนานสองวันเต็มๆ ท่านที่ไม่ทันช่วงนั้น ลองมาชมบรรยากาศ ที่ผมบ้าไปตามยอดฝีมือจากทั่วโลกมารวมกันที่ไทยครับ ครบแบบนี้หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว และไม่ว่าจะเรียก Ukulele ว่าอะไร ถ้าคุณบ้าอูคูเลเล่ ผมรักคุณเหมือนเดิมครับ

(ในงานนี้ ผมไม่ได้เล่นอูคูเลเล่ เพราะคนเล่นเยอะมากแล้ว เลยมาเขย่าไข่แทนครับ)

ขอให้มีความสุขกับอูคูเลเล่ครับ

ตาด่อง คนบ้าอูคูเลเล่

Back to blog