aNueNue ชื่อนี้หากคุณเป็นคนสนใจอูคูเลเล่ จะต้องรู้จัก เพราะอูคูเลเล่ของเขา ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นไปจนถึงระดับไฮเอนด์ ล้วนมีทั้งความลงตัวในการดีไซน์ ความง่ายในการเล่น และความไพเราะของเสียงที่กลั่นออกมา น่าแปลกนะครับ ที่ไม่ใช่ทุกผู้ผลิตจะทำได้ดีเหมือนกัน อูคูเลเล่ทำด้วยไม้เหมือนกัน แต่สร้างออกมาได้ผลลัพท์ต่างกันอย่างสัมผัสได้ ไม่ต้องเป็นเซียนก็รู้หากได้ลอง
(Johnson แห่ง aNueNue และคลังไม้ solid ของเขา)
เหตุผลง่ายๆ เลยคือ aNueNue เขามีสิ่งแรกที่ต้องเป็นเอง สอนกันไม่ได้ นั่นคือรสนิยม ตามด้วยความเข้าใจในเครื่องดนตรี และความตั้งใจที่จะพัฒนาสิ่งที่เป็นให้ดีขึ้นกว่าเดิม สามสรรพคุณนี้ มีอยู่ในตัว Johnson Liao ผู้ก่อตั้ง aNueNue
(aNueNue B1)
เรื่องรสนิยม เราจะเห็นทันทีว่าอูคูเลเล่ของเขา แม้แต่ตัวเริ่มต้นอย่างรุ่น B Series ที่ดูแสนจะเพลนๆ แต่ยังแฝงไว้ด้วยดีไซน์ ซาวด์โฮลเป็นวงรี บริดจ์ทรงมน หัวทรงเป็นเอกลักษณ์ และ จุดบอกตำแหน่งที่ดูเผินๆ ก็ปกติ แต่มันเรืองแสงได้ในที่มืด เป็นความพิเศษที่แฝงไว้ในความเรียบง่าย หรือจะเป็นรุ่น U Color ที่ออกแบบมาได้น่ารักตั้งแต่ตัวอูคูเลเล่จรดกระเป๋าใส่ แถมใช้สีตามแคตาลอคของ Pantone ด้วย
(aNueNue U Color : Living Coral)
มาถึงรุ่นสูงอย่าง Moonbird ที่ทุกอณูเต็มไปด้วยรายละเอียด ความสวยงาม อย่างมีความหมาย และเลือกใช้ไม้ Spanish Cedar มาทำ bracing เพื่อความหอมของอูคูเลเล่
(aNueNue Moonbird)
นอกจากความสวยงามกำลังดี ไม่ดิบเถื่อนจนไม่หยากหยิบ ไม่เวอร์วังจนเลี่ยนของ aNueNue แล้ว เรื่องสัมผัส และ เสียง นั้นถือว่าดีเยี่ยมกว่าค่าตัวของมัน หากเอาอูคูเลเล่ราคาใกล้กันมาเล่นเทียบกันรุ่นต่อรุ่น ยากนักที่จะอูคูเลเล่ที่ลื่นไหลและเสียงเสนาะกว่า aNueNue ทั้งหมดนี้ก็เพราะ Johnson ไม่ได้เป็นแค่คนผลิตอูคูเลเล่ แต่เขาเป็นนักดนตรีผู้ลุ่มหลงการสร้างเครื่องดนตรี สมัยเป็นวัยรุ่นเขาเคยเป็นมือกีตาร์วงดนตรีออกอัลบั้มที่ไต้หวัน โตมาย้ายไปแคนาดาก็ไปร่ำเรียนการสร้างกีตาร์โปร่งมากับปรมาจารย์
(Johnson ถ่ายในงานแต่งงาน สิงโต นำโชค ที่ฮาวาย)
ครั้นพอสนใจจะสร้างอูคูเลเล่ เขาเดินทางไปฮาวาย และได้ชื่อและโลโก้ aNueNue มาจากรูปสลักโบราณบนหิน ซึ่งเป็นรูปเทพเจ้าสายรุ้ง ใช่แล้ว aNueNue แปลว่าสายรุ้ง นี่เอง เขาพบว่าการเล่นอูคูเลเล่เป็นความสนุก และได้สะสมอูคูเลเล่หลากหลายแบบ รวมทั้งงานวินเทจด้วย จนเข้าใจว่า อูคูเลเล่ นั้นเป็นอย่างไร เล่นอย่างไร และต้องสร้างต้องปรับอย่างไรจึงจะออกมาเป็นอูคูเลเล่ที่ดี แน่นอนว่าเขาเล่นเองด้วย จึงสามารถบอกได้ว่าสิ่งที่ผลิตออกมาได้เรื่องหรือไม่ ความเข้าใจในอูคูเลเล่ถึงระดับดีเอ็นเอนี้ ทำให้ได้อูคูเลเล่ที่ดีออกมาอย่างที่เห็น
(aNueNue รุ่น สิงโต นำโชค และหมวกของสิงโต)
แต่แม้อูคูเลเล่ของ aNueNue จะทำออกมาดีอยู่แล้ว เนื่องจาก Johnson มีความตั้งใจจะให้โลกเห็นว่าเครื่องดนตรีของเขาไม่ใช่ของไก่กาอาราเร่ เขาจึงไม่เคยหยุดปรับปรุง ทั้งหน้าตา โครงสร้าง ของอูคูเลเล่ที่เขาทำ แม้บางรุ่นที่ดีอยู่แล้ว เขาก็ยกเลิกการผลิต แล้วแทนที่ด้วยโฉมใหม่ที่อัพเกรดให้ดีกว่าเก่า ตั้งแต่ผมสัมผัสมา ยกตัวอย่างที่รุ่นเริ่มต้นของเขา
(Hulala ที่พัฒนาคู่เคียงมากับอูคูเลเล่ Ribbee)
(Hulala และครูปิงตอนยังเรียนอยู่)
เริ่มจากรุ่น Hulala ที่เป็นตัวเริ่มต้นที่คุณภาพดีสมราคา ชนิดไม่มีใครสู้ได้ เขาอัพเกรดเป็น Aqua ที่ราคาไม่ต่างจากเดิม แต่เสียงดีขึ้น งานดีขึ้น กระเป๋าก็ดีขึ้น
(Aqua)
(ครูปิงและ Aqua)
จากนั้นแม้จะได้รับความนิยมดีอยู่แล้ว เขาก็เปลี่ยนอีกครั้งเป็น Rainbow Series ซึ่งแตกเป็นหลายรุ่น รวมทั้ง B series ตัวเริ่ม ที่เสียง สัมผัสดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด และได้รับความนิยมอย่างมาก
(ครูปิงและ B1)
แต่ล่าสุดเขาเตรียมโฉมที่ 4 ของรุ่นเริ่ม ที่จะมาแทนที่ B Series แล้ว นั่นคือ U Series ที่ได้รับแรงบันดาลใจเมื่อ aNueNue USA ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีก่อน
ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตบางราย 10 ปีผ่านไปก็ยังผลิตรุ่นยอดนิยมรุ่นเดิมขายอย่างไม่มีการปรับปรุงอะไรเลย ซึ่งเมื่อผมได้ลองก็จะบอกว่าดีเหมือนที่เคยเป็นมา แตกต่างจาก aNueNue ที่พัฒนาจนตัวเริ่มๆ ในปัจจุบัน เล่นได้ดีกว่าตัวกลางๆ ในอดีตเสียอีก แถมราคายังถูกกว่าด้วย
(Johnson กับ ผู้ก่อตั้ง Ukulele Picnic Hawaii, Kamaka และ ผมเอง)
นี่คือเหตุผลที่ทำไม aNueNue ถึงเป็นอูคูเลเล่ที่อยากแนะนำมากๆ ผมไม่ได้ลำเอียง เพราะผมผ่านมาแล้วทุกแบรนด์ ทั้งได้เล่น ได้พูดคุย ได้แก้ปัญหามากมาย ท้ายที่สุดสำหรับอูคูเลเล่ที่มีตั้งแต่รุ่นเริ่มต้นไปจนถึงรุ่นไฮเอนด์ ผมเชื่อว่า aNueNue คุ้มค่าที่สุด เพราะในอูคูเลเล่หนึ่งตัว จะได้ทั้ง Playability ที่ดีงาม หน้าตาที่มีรสนิยม และเสียงที่ไม่มีทางทำให้ใครผิดหวัง ทุกระดับราคา ด้วยผู้บริหารที่มีทั้งความเข้าใจในการผลิตกับโรงงานที่จีน ความเข้าใจในการสร้างเครื่องดนตรีจากแคนาดา รสนิยมที่ได้อิทธิพลจากภรรยาชาวญี่ปุ่นและตัวเขาเองที่ไปเติบโตในแดนตะวันตก แต่ครอบครัวเป็นคนเอเชีย จึงหล่อหลอม Johnson ทำอูคูเลเล่ได้ดีในแบบที่เป็น
(aNueNue U900 Rabbit)
มีคนถามว่าทำไม aNueNue ไม่ค่อยดังที่อเมริกา คำตอบคือเมื่อแรกเริ่ม aNueNue เคยลองทำตลาดที่อเมริกาแล้ว แต่คนอเมริกันนิยมแบรนด์อเมริกันมากกว่า แม้จะผลิตที่จีนเหมือนกันก็เถอะ ทำให้ในด้านการตลาด ไม่สามารถสู้กับแบรนด์ที่แม้หากเอามาชนกันรุ่นต่อรุ่น aNueNue จะเหนือกว่าทั้งราคาที่ดีกว่าและคุณภาพที่เยี่ยมกว่า แต่ผู้บริโภคเลือกสนับสนุนชาติตัวเองก่อนแน่นอน หลังจากทำตลาดที่อเมริกาได้ระยะหนึ่ง สิ่งที่ทำให้ aNueNue ตัดสินใจถอดสมอออกจากอเมริกาคือปัญหาจากรุ่นที่ขายดีที่สุดของ aNueNue U900 ที่มีคาแรคเตอร์ หมี และ กระต่าย จากญี่ปุ่นเป็นแบบ ออกมาสองรุ่น พร้อมกระเป๋าน่ารัก ขายดิบขายดีมากๆ ในเอเชีย แต่ที่อเมริกากลับมีคำถามถึงสีผิวของกระต่าย ที่ดำปี๋ กับดวงตาขาวโพลนและปากหนาๆ ว่าเข่าข่ายเหยียดสีผิวไหม
(Kalei และ Corey แห่ง aNueNue USA)
เมื่อวัฒนธรรมแตกต่างในอเมริกา aNueNue จึงหันมาเน้นพัฒนาตลาดที่เอเชีย ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในเอเชีย และในจีนเองก็มีความต้องการรุนแรงมากในช่วงหลังมานี้ และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด aNueNue ก็ค่อยๆ เข้าสู่ตลาด ยุโรป ออสเตรเลีย จนในที่สุด aNueNue ก็ตัดสินใจกลับไปลุยที่อเมริกาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เขาส่งแม่ทัพ Kalei Gamiao ศิลปินอูคูเลเล่ชื่อดังมาเป็นผู้บริหาร และเลือกนำเสนอเฉพาะรุ่นที่เหมาะสมกับอเมริกาเท่านั้น และเท่าที่เห็นจะเน้นรุ่นโหดๆ อย่าง Moonbird มาเป็นตัวชูโรง ซึ่งได้รับความนิยมในผู้เล่นซีเรียสกันแล้ว น่าเสียดายนิดหนึ่งที่เมื่อ aNueNue USA เปิดปุ๊บ COVID19 ก็มาปั๊บ ทำให้เราคงต้องรอไปก่อน (เขียนเดือน พ.ค. 2564) จึงจะเห็น aNueNue แผ่สายรุ้งไปทั่วอเมริกาอย่างเต็มภาค
(Johnson กับ aNueNue Custom)
ส่วนตัวผมเอง ได้พบ Johnson ครั้งแรกเมื่อราว 10 กว่าปีก่อน เมื่อครั้งเขาเริ่มก่อตั้ง aNueNue ผมเองเพิ่งมาสนใจอูคูเลเล่ เมื่อเห็นว่ามีผู้ผลิตใหม่ จึงลองติดต่อดู ตอนนั้น aNueNue ยังตระเวณไปทั่วโลก เพื่อหาตัวแทนจำหน่าย ผมได้คุยกับ Johnson เขาเพิ่งเสร็จจากการไป NAMM Show ที่อเมริกา กำลังจะไปงานแสดงเครื่องดนตรีที่เยอรมัน เขาบอกผมว่าเขาเดินทางโดยการบินไทย ขากลับเดี๋ยวแวะมาเจอ
(เมื่อครั้งแรกเจอกับ Johnson เมื่อราวปี 2010)
หลังจากนั้นไม่นาน Johnson ก็แวะมาเจอจริงๆ พร้อมอูคูเลเล่ที่ขนกลับเยอรมัน ในนั้นมีรุ่น Papa ที่เป็นรุ่นเริ่มของเขาในตอนนั้น เล่นได้ดีเกินตัวเริ่มของแบรนด์อื่น แถมมีการตกแต่งยิงเลเซอร์ที่สมัยนั้นไม่มีอูคูเลเล่ไหนทำ จัดเป็นอูคูเลเล่ที่ใช้เล่นจริงจังได้เลย (ต่อมาสิงโต นำโชค ก็ใช้รุ่นนี้ในการทัวร์อัลบั้มแรก) อีกตัวคือ U900 อูคูเลเล่ทรงสับปะรด หน้าตาการ์ตูนๆ ดูเหมือนของด็กเล่น แต่เมื่อหยิบขึ้นมาเล่นแล้วผมตกใจ เพราะทั้งสองตัวที่เขาเอามา ทั้งสัมผัส สุ้มเสียง มันช่างดีงาม ดีกว่าอูคูเลเล่ราคาใกล้ๆ กันที่แขวนอยู่รอบตัวผมทุกตัว วันนั้น Johnson เล่าเรื่องอูคูเลเล่ต่างๆ นาๆ ให้ฟัง แล้วยังหยิบกีตาร์ของผมมาเซ็ทคอให้ด้วย เห็นเลยว่าเขามีความลุ่มหลงที่จะสร้างอูคูเลเล่ดีๆ อย่างแรงกล้า แถมมีความเข้าใจในเครื่องดนตรี และวัฒนธรรมของมันด้วย วินาทีนั้น ผมก็รู้ตัวทันทีว่า aNueNue นี้ จะต้องเป็นแบรนด์ที่ยิ่งใหญ่แน่ๆ
(พาชมโรงงาน aNueNue)
ว๊าปมาปัจจุบัน aNueNue ยิ่งใหญ่จริงๆ ครับ ใหญ่กว่าสมัยก่อนเยอะมาก มีโรงงานของตัวเอง มีไลน์ไฮเอนด์ที่ไปได้ปรมาจารย์อูคูเลเล่ Mitsuta ช่วยออกแบบ จนได้อูคูเลเล่ระดับไฮเอนด์ญี่ปุ่น ในราคาเพียงเสี้ยวเดียว แถมเขายังสานฝันออกไลน์กีตาร์ ที่ทำออกมาได้ดีเหมือนครั้งเริ่มทำอูคูเลเล่เลย ด้วยทีมงานระดับพระกาฬ ที่เขาลงทุน R&D ไปมากมาย แต่กีตาร์น่าจะหินกว่ามากสำหรับเวทีโลก เรื่องคุณภาพผมไม่กลัว เพราะได้ลองเล่นแล้วก็พบว่าท้าชนทุกสถาบัน แต่ในโลกกีตาร์เรื่องแบรนด์ก็สำคัญ บางทีคนซื้อเพราะจะโชว์แบรนด์ อันนี้ aNueNue ก็ต้องสร้างชื่อเสียงต่อไป จนถึงวันที่ใครๆ ก็ยอมรับ สายรุ้ง นี้
ด่อง คนบ้าอูคูเลเล่