aNueNue กับ ผม

aNueNue กับ ผม


ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ผมเริ่มบ้าอูคูเลเล่ใหม่ๆ เมื่อปี 2009 ที่ยังไม่มีใครคุ้นเคยกับเจ้าเครื่องดนตรีนี้นัก ผมอุตริเล่นขายของอยู่ที่บ้าน แน่นอนของที่ขายก็คืออูคูเลเล่ที่ผมบ้าสั่งมามากมาย ซึ่งตั้งใจว่าจะสั่งมาลองหลายๆ แบบ เพราะที่ไทยหาอูคูเลเล่ดีๆ ได้ยากเย็นนัก ตอนนั้นทำใจไว้แล้วว่าถ้าขายไม่ได้ก็ถือว่าสะสม ผมจับพลัดจับผลูชักแม่น้ำทั้งห้าจนผู้ผลิตอูคูเลเล่รายหนึ่งยอมให้เป็นตัวแทนจำหน่าย ผมสั่งมาไม่มากนักแล้วทำเป็นร้านขายที่ไม่ได้หวังกำไร ค่าเช่าก็ไม่มี ค่าจ้างก็ไม่มี และลูกค้าก็ไม่มี นั่งเล่นชิลทั้งวัน

ผมเอาอูคูเลเล่ตบยุงอยู่พักใหญ่ ก็เริ่มมีคนที่ 1 ที่มาหาผมเพราะอยากเล่นอูคูเลเล่จริงๆ แล้วคนที่ 1 ก็ตามคนที่ 2 3 4 5 มาเรื่อยๆ จนสามารถตั้งเป็นคลับได้ ซึ่งมันมีดราม่าอะไรอยู่บ้างและผมจะไม่เล่าถึงมันมากไปกว่าบอกว่ามันมี ! ผมมีความสนใจอูคูเลเล่มากและมองหาอูคูเลเล่ใหม่ๆ ตลอดเวลา ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะสิ่งใดนอกจากสนองความบ้าอูคูเลเล่ของผมเองทั้งนั้น สั่งมาเกือบทุกเจ้า เจ้าละนิดละหน่อยตามกำลังที่มี

จนวันหนึ่งผมดูคลิ๊ปรีวิวของ Ukulele Underground เว็ปอูคูเลเล่ชื่อดังโดยอัลดรีน ศิลปินอูคูเลเล่ฮาวาย ที่ตระเวณทั่วงานมหกรรมโชว์เครื่องดนตรี NAMM Show ที่แอลเอ สหรัฐอเมริกา แล้วตามสัมภาษณ์ผู้ผลิตอูคูเลเล่เจ้าต่างๆ ผมมาสะดุดตาที่อูคูเลเล่เจ้าหนึ่ง มีตราเป็นรูปคนกางแขนกางขา ยี่ห้ออ่านลำบาก เจ้าของหน้าจีนแต่พูดภาษาอังกฤษดี เขามาเล่าถึงความพิเศษต่างๆ นาๆ ของอูคูเลเล่ที่เขาทำ เท้าก็ฟุตเวิร์คไปด้วย เป็นท่าทางที่ผมจำแม่นยำ และตัดสินใจติดต่อเขาไป

คนคนนั้นคือ จอนสัน เจ้าของอนุยๆ ผู้เป็นคนไต้หวัน แต่ถือสัญชาติแคนาดา ทราบภายหลังจากเจ้าตัวว่าแต่ก่อนเคยเป็นมือกีตาร์วงร็อคในวัยเด็ก จากนั้นไปเรียนต่อที่แคนาดาและศึกษาการสร้างกีตาร์จากกูรูที่นั่นมา เขาเพิ่งเริ่มเข้ามาในแวดวงเครื่องดนตรีเพราะเขาพิสมัยการสร้างกีตาร์ และเป็นคนสะสมกีตาร์โหดๆ อยู่แล้ว แต่ช่วงเวลานั้นเขาเลือกเข้ามาในถนนสายนี้ด้วยอูคูเลเล่ เพราะมันยังไม่มีใครทำกันนัก และดูเทรนด์แล้วอูคูเลเล่จะมาแน่ๆ เขาเลยเปิดฉาก aNueNue ด้วยอูคูเลเล่ก่อน

ตอนผมติดต่อเขาไป เขาบอกเลยว่าจะมาเจอผมที่ไทย ผมตกใจเพราะไม่มีเจ้าไหนที่ไหนสนใจจะมาหาผม พร้อมกันนั้นก็มีคนไทยคนอื่นติดต่อเขาไปเช่นกัน และทราบด้วยว่าเขาจะมา ซึ่งผมก็มีความเสียวว่าเขาจะเลือกใคร ผมเองก็ที่สุดของรายย่อย แถมขายแบบเล่นขายของอยู่ที่บ้าน มันสู้ใครไม่ได้แน่ๆ สิ่งเดียวที่มีคือความตั้งใจจริง และความบ้าอูคูเลเล่ชนิดของมาก่อนเงิน ซึ่งมันคืออาวุธอย่างเดียวที่ผมพอจะมี

วันนั้นเขาเอาอูคูเลเล่ไปแสดงที่ Sound Messe งานแสดงดนตรีใหญ่ของยุโรปที่เยอรมัน ขากลับเขาแวะไทยเพื่อมาเจอผม วันแรกที่ไทยผมไปรับเขาทานข้าวเย็น จำได้แม่นว่าแต่งตัวดีที่สุดในรอบปี ก่อนไปพบผมไปแวะซื้อเสื้อสีดำ และ รองเท้าใหม่ มาเปลี่ยน ทำผมให้แนวๆ เพื่อให้ดูลึกลับและเท่ที่สุดในความรู้สึกผม เพื่อให้ดูน่าประทับใจที่สุด จำได้แม่นเลยว่าพาไปทานคาเฟ่ชิลลี่ที่พารากอน พอนั่งผมก็เอ่ยปากจะคุยเรื่องเป็นตัวแทน และถามว่าเขาเลือกใคร แต่เขาบอกใจเย็นๆ คืนนี้เราจะไม่คุยเรื่องงานกัน แล้วเราก็คุยเรื่องอื่นๆ และทำความรู้จักกันไป วันรุ่งขึ้นเขาจะไปเยือนบ้านผม ซึ่งคือร้านผมด้วย และนั่นคือเวลาที่จะคุยเรื่องงานกัน ถึงวันผมก็จัดแจงเกณฑ์ทุกชีวิตที่ผมรู้จักและยอมมาช่วยผม ให้มาเป็นลูกค้าผมในวันนั้น เพื่อให้จอนสันเห็นว่าผมก็ไม่ได้ห่วยๆ นะ และเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ผมก็พากันมาอุดหนุนกันคับคั่งจริงๆ

ผมทราบว่าเขาชอบข้าวมันไก่ อาหารกลางวันวันนั้น เราจะทานกันที่บ้านผม พร้อมเพื่อนพ้องหน้าม้าที่มา ผมก็จัดแจงให้ภรรยาไปซื้อข้าวมันไก่แถวบ้านมาชุดใหญ่ ไก่เยอะมาก เสริฟบนจานเปลใหญ่ยักษ์ จอนสันชอบมากและซดน้ำจิ้มข้าวมันไก่จนหมด เขาบอกว่านี่คือข้าวมันไก่ที่อร่อยที่สุดที่เขาเคยทานมาเลย และเขาบอกผมว่าไม่คุยกับใครแล้ว ผมนี่แหละเป็นตัวแทนจำหน่ายไปเลย โดยครั้งนี้เขาเอาอูคูเลเล่ที่เพิ่งเอาไปแสดงที่แฟร๊งเฟิร์ตมาด้วยลังใหญ่ ในนั้นมีอูคูเลเล่ aNueNue รุ่น U900 หมี และ กระต่าย และ รุ่น 1879 มาด้วย

ผมเห็น U900 ครั้งแรก ก็เห็นว่ามันน่ารักตั้งแต่กระเป๋ายันตัวอูคูเลเล่ แต่พอเอามาเล่นเท่านั้นแหละ ก็พบว่าอูคูเลเล่ที่ผมสั่งมาทั้งหมดในราคาระดับเดียวกัน หรือระดับสูงกว่าหน่อยนึง ไม่มีตัวไหนสู้มันได้เลย เล่นก็ง่าน เสียงก็ดี มีดีไซน์ ผมเลยขอเขาเอาไว้ที่ผมเลย เพื่อนำเสนอให้คนชอบอูคูเลเล่ที่ไทยได้สัมผัสของเจ๋ง น่ารัก ในราคาไม่แพงกัน

พร้อมกันนี้นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ลอง 1879 อูคูเลเล่ replica ที่เขาทำเลียนแบบอูคูเลเล่โบราณตัวแรกๆ ที่มีเลยทีเดียว โดยเขาไปได้ตัววินเทจมา แล้วเอามาแกะดูทุกกระเบียดนิ้วเพื่อสร้างอูคูเลเล่ที่ดูเหมือนของเมื่อ 100 กว่าปีก่อน แต่เสียงดี เล่นดี ลูกบิดดีด้วยเทคโนโยยีปัจจุบัน แถมด้วยกระเป๋าที่สร้างตามกระเป๋าโบราณที่ใส่มันมาด้วย ตั้งแต่ตัวกระเป๋ายันที่ล็อค ล้วนย้อนยุคหมด ที่สำคัญเสียงดีโคตรๆ

การมาของ aNueNue ในวันนั้น เปิดโลกทัศน์ผมทั้ง 6 ด้าน มันทำให้อูคูเลเล่ทำจีนที่ผมรู้จักเปลี่ยนไปตลอดกาล ก่อนนั้นไอ้ที่ว่าดีแล้ว ยังมีเหนือกว่าในราคใกล้กัน ผมเชื่อว่าหลายคนก็เห็นเหมือนผม เพราะถ้าใครสนใจอูคูเลเล่ในยุคนั้น คงได้ทราบว่า U900 ของ aNueNue นั้นเป็นเช่นไร และสร้างความแปลกใหม่ให้วงการเครื่องดนตรีของไทยแค่ไหน

จอนสันเคยบอกไว้ว่า การเอาเลเซอร์มายิงบนตัวอูคูเลเล่ให้เป็นลาย และการฉลุซาวด์โฮลเป็นรูปต่างๆ อีกไม่นานผู้ผลิตจีนก็จะทำตามกันหมด ซึงมันก็เป็นตามนั้นจริงๆ เพราะหลังจากนั้นจนวันนี้ ใครๆ ก็ผลิตอูคูเลเล่ยิงเลเซอร์ ใครๆ ก็ทำซาวด์โฮลเป็นรูปต่างๆ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมีรสนิยมเหมือนจอนสัน และนอกจากรสนิยมแล้ว ความที่เป็นคนดนตรีจริงๆ ทำให้ไม่ว่าเขาจะสร้างอะไรออกมา นอกจากจะมีดีไซน์ที่ดีแล้ว เสียง สัมผัสต้องดีด้วย ผมมั่นใจในทุกๆ สิ่งที่เขาทำ และก็ไม่มีใครตามเขาทัน ล่าสุดมีการเอาคริสตัลของสวารอฟสกี้มาฝังเป็นจุดบอกตำแหน่งเฟร็ต และตามด้วยเอาลูมิโนว่า พรายน้ำเรืองแสงมาใช้บนอูคูเลเล่ ให้มันสว่างในที่มืด ซึ่งเดี๋ยวก็มีคนทำตาม แต่ aNueNue ไม่สน เพราะเขาก็กระโดดไปทำอย่างอื่นต่อเรื่อยๆ

วันนี้ aNueNue ประสบความสำเร็จอย่างมากหลังเพิ่มไลน์กีตาร์โปร่งเข้ามา ด้วยหลักการเดิมว่าดีไซน์ต้องดี เสียง สัมผัสต้องโดน กระเป๋ามี ทำให้กีตาร์ของเขาได้รับความนิยมชนิดผลิตไม่ทัน ต่อเนื่องด้วยเบสเล็กที่เพิ่งเปิดตัวและมีคนสนใจมากมาย โดยในอนาคตนี้เขาจะทำสิ่งที่เขาอยากทำมานาน ในปีครบรอบ 10 ปีของ aNueNue เขาจะออกกีตารไฟฟ้า ซึ่งมีทุกสิ่้งที่กีตาร์ไฟฟ้าไฮเอนด์มีและมากกว่าด้วยซ้ำ ในราคาถูกกว่าโดยที่คุณภาพไม่ต่ำกว่า

ผมเอง ยังคงอยู่กับอูคูเลเล่อยู่ แม้มันจะไม่ได้เป็นของในกระแส และกลายเป็นเครื่องดนตรีทั่วไปที่ไม่ร้อนแรงแล้ว จอนสัน กลับมาหาผมที่ไทยอีกครั้ง ในวันที่เขาใหญ่กว่าสมัยก่อนที่มากินข้าวมันไก่กันหลายสิบเท่า เขาบอกว่าเขามาครั้งนี้เพื่อจะมาชวนผมทำกีตาร์ด้วยกัน ซึ่งอูคูเลเล่ก็ไม่ได้ทิ้ง มีการคิดค้นและสร้างอะไรใหม่ๆ ออกมาตลอด และเจ๋งขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งที่จะทำให้ผมสร้างความยิ่งใหญ่ให้อูคูเลเล่ได้ มันคือการรวมพลังกับกีตาร์ของ aNueNue ซึ่งถ้าใครได้สัมผัส ก็จะทราบดีว่ามันดีอย่างไร

และไม่ว่า aNueNue จะมีทิศทางใด ผมและทีมงานก็จะไปทางนั้นเช่นกัน เพราะจอนสันเขาบอกไว้ว่าผมกับเขาคือพี่น้องกัน

Back to blog