เรายังจำได้ เมื่อครั้งที่เริ่มสนใจอยากจะหาอูคูเลเล่สักตัวมาเล่น
สมัยนั้นเมืองไทยไม่มีร้านขายอูคูเลเล่จริงจัง ที่มีขายก็ขายเป็นของประกอบร้าน
จะหาคนรู้เรื่องมาคุยก็ไม่มี เพราะไม่มีใครจริงจังกับอูคูเลเล่
แต่สำหรับเพื่อนๆ ถ้าได้มาอ่านบทความนี้เพราะสนใจจะเลือกหาอูคูเลเล่มาเล่นสักตัว
ผมขอบอกว่ามาถูกที่แล้วครับท่าน เพราะ ริบบี คือสำนักอูคูเลเล่ครบวงจร
มีทีมงานทุกคนเป็นผู้พิสมัยในอูคูเลเล่ หายใจเข้า หายใจออก เป็นอูคูเลเล่ และรักในสิ่งที่เราทำ
ก่อนอื่นขอแนะนำตัวว่า ริบบี...เราคือผู้บุกเบิกวงการอูคูเลเล่ในไทยอีกด้วย
อันนี้ไม่ได้มาโชว์ แต่อยากจะบอกว่าเราเริ่มจากยุคที่อูคูเลเล่ดีๆ จะหาสักตัวยังลำบาก
มาจนถึงยุคอูคูเลเล่บูม เดินตลาดยังมีขาย มาสู่ยุคที่อูคูเลเล่ไม่ใช่แฟชั่น แต่คือเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง
เป็นทางเลือกสำหรับผู้สนใจจะเล่นดนตรี ที่สามารถเล่นเป็นได้ง่ายกว่าเครื่องสายชนิดอื่นๆ
และพกพาสะดวก สุ้มเสียงน่ารัก เล่นผ่อนคลายได้ดี หรือจะเอาจริงเราก็สร้างแชมป์ระดับโลกให้เห็นมาแล้ว
เราขอแนะนำการเลือกเหมือนผมแนะนำญาติหรือเพื่อนสนิทเลยนะครับ
ไม่ขอสาธยายสไตล์พ่อค้าขายของ ว่าแล้วก็เริ่มกันเลย
1. เลือกอูคูเลเล่ขนาดไหนดี?คำถามนี้คือด่านแรกที่ทุกคนเจอ ส่วนคำตอบนั้นมันอยู่ที่ผู้เล่น
Soprano
หากอยากได้ look แบบอูคูเลเล่แท้ๆ ขนาดดั้งเดิม สุ้มเสียงแบบอูคูเลเล๊เลเล่
ขนาดที่เหมาะคือ soprano สามารถนำไปตีคอร์ดร้องเพลงได้เป็นอย่างดี
ส่วนการเล่นบรรเลงนั้น อาจเล่นได้จำกัด เนื่องจากจะมีเฟร็ตน้อยกว่าขนาดอื่นๆ
แต่ไม่ใช่บรรเลงไม่ได้นะครับ แค่บรรเลงเพลงที่ต้นฉบับเขาเอาขนาดอื่นมาเล่นไม่ได้
แต่ถ้าเพลงที่ศิลปินต้นฉบับเขาใช้ soprano ก็สามารถเล่นบรรเลงได้ ขึ้นอยู่กับฝีมือผู้เล่นกันล่ะทีนี้
สำหรับไซส์นี้นับเป็นขนาดยอดนิยมของมือใหม่ที่สุด และผู้เขียนเองแม้เล่นมานานแล้ว
ก็ยังใช้ soprano นี่แหละเป็นอาวุธประจำตัวเสมอมา
Concert
ขนาดนี้ทำขึ้นมาสำหรับผู้ที่จะไปเล่นคอนเสิร์ต...ไม่ใช่
อูคูเลเล่ concert มีขนาดใหญ่ขึ้นมาจากขนาดมาตรฐาน (soprano) และมีคอที่ยาวขึ้น
แน่นอนว่าจะสามารถเล่นดน๊ตได้เยอะขึ้นด้วย ทำให้ผู้เล่นจะเล่นเพลงได้กว้างกว่า
ในขณะเดียวกันเสียงก็จะใหญ่ขึ้นด้วย ตามขนาดของตัว และนี่คือขนาดที่คนค่อนข้างนิยม
เพราะดูเหมือนจะมีคุณลักษณะ "รักพี่เสียดายน้อง" ยังมีขนาดเล็กอยู่บ้าง แต่ก็ใหญ่ขึ้นมาหน่อย
หรือที่บ้านผมเรียกว่า ไม่เล็กไม่ใหญ่ นั่นเองครับ ส่วนการนำไปใช้ สามารถใช้ร้องเล่นก็ดี
แม้ไม่ได้เสียงเจื้อยแจ้วเท่า soprano แต่ก็ไม่ดุดันเท่า tenor เอามาบรรเลงก็ได้โน๊ตเยอะกว่า soprano
แต่ไม่มาเต็มสตรีมเหมือน tenor นี่แหละครับ concert ศิลปินอูคูเลเล่แจ๊สของไทย
ที่โด่งดังระดับโลก Apirak ก็ใช่ขนาดนี้ครับ
Tenor
อูคูเลเล่ขนาดใหญ่สุด คอยาวที่สุด ที่เหล่าบรรดาอูคูเลเล่ฮีโร่ยุคใหม่เช่น Jake Shimabukuro,
Kalei Gamiao, Aldrine Guerrero, Kyas นิยมใช้ เพราะแนวเพลงที่เล่นรัวระเร่า โซโล่กระจาย
ต้องการพื้นที่เฟร็ทกว้างๆ จะได้เล่นไม่พลาด แค่นั้นไม่พอ ยังต้องการโน๊ตมากขึ้น
เพื่อการไล่เสียงแบบสุดเสียงสังข์ ถ้าผู้เล่นอยากเป็นฮีโร่ นี่คือขนาดที่แนะนำ แต่มองอีกทาง
หากนำมาเล่นสตรัมคอร์ทร้องเพลง สุ้มเสียงที่อุ่นขึ้นมาก็ไปกันได้ดีกับเสียงร้องเหมือนกัน
อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้เล่น ว่ามีรสนิยม และอยากได้เสียงแบบไหน
Baritone
นี่คืออูคูเลเล่ขนาดที่ทำขึ้นมาเพื่อคนกีตาร์โดยสดุดี เพราะมันตั้งเสียงเหมือนกีตาร์สี่สายล่างเลย
ฉะนั้นหากเล่นกีตาร์เป็น ก็สามารถเล่น baritone อูคูเลเล่ได้เลย แค่ลืมสองเส้นบนของกีตาร์ไป
แล้วสตรัมอเวย์เบบี้! สำหรับไซส์นี้ ยังไม่เป็นที่นิยม และไม่ค่อยมีการนำมาขายนัก
แต่เสียงของมันช่างอบอุ่นเหลือเกิน เล่นบรรเลงก็ฟังสบาย เล่นไปร้องไปก็เข้าที
โดยเฉพาะหากนักร้องผู้หญิงเสียงใสๆ มาเคล้ากับ baritone เสียงใหญ่ๆ เพราะอย่าบอกใครครับ
(หาฟังได้จากคุณแอน เดอะว๊อยซ์ แห่งวง Macaron)
ขนาดประหลาด
Soprano-Long Neck
อูคูเลเล่ขนาดนี้คือการนำเอาบอดี้ของ soprano มาใส่คอ concert ออกมาเป็น soprano คอยาว
ให้สุ้มเสียงเล็กๆ แต่เล่นได้กว้างขึ้นไม่แพ้ concert ซึ่งเดี๋ยวนี้เขามีชนิดเอาบอดี้ soprano
มาต่อคอ tenor ด้วยนะครับ แต่ไม่ค่อยแพร่หลายนัก และยังมีการนำคอนเส็ปนี้ไปใช้กับบอดี้ขนาดอื่นๆ ด้วย
เช่น บอดี้ concert /คอ tenor = Super Concert หรือ บอดี้ tenor/ คอ baritone = Super Tenor
ก็ตามแต่จะเรียกกันไปครับ
Sopranino
ใครว่า soprano เล็กแล้ว ต้องมาเจอกับ sopranino ที่ขนาดเล็กได้อีก
สำหรับไซส์นี้ใครนิ้วใหญ่ๆ อาจจะเล่นลำบากหน่อย แต่สุ้มเสียงของมันช่างแหลมบาดใจเสียเหลือเกิน
อูคูเลเล่ 6 สาย 8 สาย
นี่คืออูคูเลเล่เฉพาะทาง ส่วนมากจะเป็นไซส์ tenor เขาจะมีการเบิ้ลสายให้เล่นออกมามีเสียงประสาน
ที่บ้านเราไม่ค่อยนิยมเล่น แต่ที่ฮาวายจะชอบนำมาเล่นประกอบการร้องเพลงแนวฮาวาย "Mele"
ให้สาวฮูล่าเต้นระบำฮาวายกัน
2. เลือกราคาไหนดี?
ปัญหาโลกแตกด่านที่สอง ที่โหดไม่แพ้ด่านแรก ก่อนอื่นผมขอถามก่อนเลยว่าตั้งงบไว้ประมาณไหน
ด้วยความสัตย์จริง อูคูเลเล่ของเราเลือกแต่ของดีๆ มีแบรนด์ใหญ่ๆ ที่มีขายในร้านอูคูเลเล่
ร้านดนตรีระดับโลก เป็นเครื่องรับประกัน ซึ่งถ้าสำนักไหนผลิตไม่ดี เราจะเอามาโล๊ะ
หรือบางยี่ห้อก็เลิกขายไปเลยแล้วเอาไปบริจาคแทน เพราะของกากๆ เราไม่อยากขายครับ
ทำให้ตั้งแต่อูคูเลเล่ราคาถูกสุดที่ 1,600 บาท ไปจนถึงตัวเป็นแสนๆ ล้วนเป็นของดีเล่นได้จริง สมราคากันหมด
ซึ่งถ้ายิ่งงบเยอะ ก็จะได้อูคูเลเล่ที่ดีขึ้น ถ้างบจำกัด กำมา 2,200 บาท ก็ได้ของดีสมราคา เล่นได้จริงๆ กลับไป
( ที่ไม่ได้แนะนำตัวที่ราคา 1,600 บาท เพราะมันเป็นรุ่นที่ทำเป็นสีต่างๆ ) ที่ว่าเล่นได้จริงๆ ต้องดูที่ "สามดี" นั่นคือ...
- ลูกบิดดีมีคุณภาพ เมื่อสายยืดตัวคงที่แล้ว จะไม่เสียงเพี้ยนพร่ำเพรื่อ
มันเป็นเรื่องปกติที่อูคูเลเล่ใหม่เมื่อได้มาหรือขึ้นสายใหม่ๆ เราจะต้องหมุนตั้งสายหลายครั้งจนกว่าจะอยู่ตัว
แต่ถ้าไปเจอของกากๆ เข้า ท่านตั้งไปเป็นปี เสียงมันก็จะเพี้ยนทุกนาทีที่เล่นครับ
- เสียงดีมีกังวาล ที่ว่าเสียงดีคือ อูคูเลเล่ที่สร้างมาเพื่อตั้งโชว์โดยไม่สนใจเรื่องอคุสติก
เวลาเล่นแล้วเสียงจะทึบ เมื่อเอามาเทียบกับอูคูเลเล่ที่มีการออกแบบมาเพื่อใช้เล่น
จะได้ยินเลยว่าเสียงมันกังวาลต่างกัน ทั้งนี้ในอูคูเลเล่ราคาเริ่มต้นของเรา ย่อมต้องกังวาลน้อยกว่าตัวราคาสูงๆ
แต่ทุกตัวของเรามีเสียงที่ถือว่าดี เคยเจอมาแล้ว อูคูเลเล่ไม้แท้ไม่รู้ที่มา เล่นแล้วเสียงทึบมาก
ตัวเริ่มต้นราคา 2,200 บาทยังเสียงดีซะกว่า
- ปราณีตดีตามราคา เป็นเรื่องธรรมดาที่ยิ่งราคาสูงความปราณีตเขายิ่งสูง แต่ตัวเริ่มต้นที่ดีก็ควรปราณีต
ซึ่งของที่เรานำเสนอ เราพิสูจน์มาแล้วว่าแจ่มสมราคานั้นๆ ส่วนตัวราคาเทพๆ เขาจะสัมผัสละมุนมาเลยเมื่อแรกจับ
เพราะผู้สร้างใช้ความพิถีพิถันกับอูคูเลลเ่แต่ละตัวมากเกินห้ามใจ เวลาดูอูคูเลเล่ ให้ดูที่งานเฟร็ตด้วย
เราไม่ได้จะจับผิดกันเวอร์ๆ แต่แค่สังเกตุว่าลวดที่ตอกไว้บนคอ (เฟร็ต) นั้นคมหรือไม่
เพราะบางทีเล่นๆ ไปอาจโดนบาดเลือดออกได้ จากนั้นลองเล่นดูว่ามีเสียงบัซไหม
เสียง"บัซ"นี้ คือเสียงที่เวลาเราเล่นแล้วมีเสียงที่ไม่พึงประสงค์ออกมาด้วย เช่นเหมือนมีอะไรสั่นๆ
แทนที่จะได้ยินแค่เสียงที่ดีดออกมา ทั้งนี้ต้องเล่นให้ถูกวิธี ถูกจุด ด้วยความแรงที่ไม่มากจนเกินไป
เพราะบางทีหากไปคั้นมันมาก อูคูเลเล่ดีๆ ก็อาจบัซได้ ให้เล่นแบบที่จะเล่นปกติเวลาลองดีที่สุด
หากไม่แน่ใจว่าเล่นแบบปกติทำอย่างไร โปรดติดตามชมจากเราได้ที่นี่
3. เลือกไม้อะไรดี
ด่านที่สาม เมื่อทราบกระสุนที่เตรียมไว้ ทราบขนาดที่หมายปอง ก็ได้เวลาสอยกันสักที
แต่จะสอยไม้อะไรล่ะครับ ไม้อะไร? ถามง่ายๆ แต่ตอบยากเย็นนัก เพราะก่อนจะเข้าถึงเรื่องชนิดไม้
มันมีประเภทไม้มาก่อน นั่นคือ
- ลามิเนต
ลามิเนตในที่นี้มีหลายแบบ มีทั้งแบบเป็นไม้อัดซึ่งก็คือเศษไม้บดละเอียด เอามาอัดกันแล้วแปะหน้าด้วยแผ่นไม้จริงๆ กับอีกแบบคือไม้จริงๆ ฝานออกมาบางมากๆ แล้วนำมาอัดทับกันให้หนาขึ้น
โดยทั่วไปไม้ลามิเนตดูแล้วก็เหมือนไม้ทั่วไป ในไม้ชนิดที่ลายหลากหลาย
แต่ละตัวก็ลายไม่เหมือนกันด้วย ถ้าจะดูว่ามันเป็นลามิเนตไหม ต้องมองไปที่ซาวด์โฮล
แล้วจะเห็นว่ามันมีไม้แปะทับกันเป็นชั้นปรากฏให้เห็น บางชนิดมีสองชั้น บางชนิดมีสามชั้น
แล้วแต่เกรดของลามิเนตที่นำมาใช้ กีตาร์หรืออูคูเลเล่เสียงดีๆ ก็ทำจากไม้ลามิเนตกันเยอะนะครับ
- โซลิด
โซลิตคือไม่แท้ทั้งแผ่น ไม่มีการแซนวิชสอดแทรกเศษ ไม่มีเอาไม้อัดมาแปะข้างใต้
แต่เป็นไม้จากต้นเลย ที่ฝานมาทำกันเป็นชิ้นๆ ซึ่งว่ากันว่านานๆ ไป เมื่อเล่นเครื่องดนตรีไปเรื่อยๆ
ผ่านการสั่นสะเทือน ไม้โซลิต หรือไม้แท้นี่แหละ จะพัฒนาการเสียงได้อีกสองหรือสามหน่อย
ในขณะที่ไม้ลามิเนตอาจจะดีขึ้นได้หน่อยนึงเท่านั้น (ทั้งนี้ทั้งนั้น หากไปเจอผู้ผลิตกากๆ ใช้ไม้โซลิดแต่ทำออกมาเสียงทึบก็มีให้เห็นมากมายนะครับ)
ส่วนเรื่องเสียงนี่ อยากให้วัดกันที่เสียงตอนแรกซื้อเลย เพราะกว่าเสียงจะพัฒนาได้
มันต้องผ่านการเล่นยาวนาน มีปัจจัยอื่นๆ เช่นการเก็บและดูแลรักษาด้วย และบางครั้ง บางรุ่น
ไม้ลามิเนตเสียงดีกว่าไม้โซลิดก็มีให้ได้ยินกัน เช่นของ Kiwaya รุ่น Eco Series
แม้เป็นไม้ลามิเนต แต่ของเขาเสียงใสดังกังวาลกว่าโซลิดหลายรุ่น ส่วนราคาก็พอๆ กัน
เพราะเขาใช้ไม้ลามิเนตเกรดดีมากๆ มาทำอย่างมีชั้นเชิง
ชนิดไม้
อันชนิดของไม้ที่นำมาทำอูคูเลเล่นั้นมีมากมายก่ายกอง แต่เอามาแนะนำคร่าวๆ แบบกากไวๆก่อนได้ดังนี้
- Mahogany
ให้เสียงทุ้มกว่า นุ่มนวล อบอุ่น
Mahogany
- Koa/ Mango
ให้เสียงใส ละมุนละไม กลมกล่ม
Koa Curly Koa
Mango
- Spruce/ Cedar
ให้เสียงพุ่งดัง คมกริบ บาดหัวใจ
Spruce
อ่านแล้วอาจงงไปใหญ่ แต่นั่นคือความรู้สึกของผู้เขียนจริงๆ และจริงๆ
จะนำไม้ในหัวข้อเดียวกันมาแยกบรรยายอีกก็ได้ แต่พอดีในเมื่อเสียงมันไปในทางเดียวกัน
ผมก็ขอรวมเอาไว้ด้วยกันเพื่อความสะดวกเลือกนะครับ
และนี่คือ 3 ขั้นตอนสู่การเลือกหาอูคูเลเล่ตัวแรกของคุณ ขอสารภาพว่าหากคุณเล่นอูคูเลเล่แล้วชอบ
เล่นแล้วติดใจ เดี๋ยวก็จะอยากได้ขนาดและไม้ที่แตกต่างไปจากที่มีอีก เวลาเล่นเพลงเดิม
เสียงที่ได้ยินก็จะไม่เหมือนกัน สนุกสนานเพลิดเพลินไปอีกแบบครับ
ไม่เชื่อลองเลือกตัวแรกของคุณไปเล่นก่อนสิครับ แล้วเราคงได้เจอกันบ่อยๆ :)