Ribbee Ukulele ที่ๆ มีแต่ อูคูเลเล่ ดีดี ต้องที่ ริบบี อูคูเลเล่ ร้านอูคูเลเล่ สำหรับคุณ

เกร็ดอูคูเลเล่ 10 ข้อน่ารู้

1. อูคูเลเล่นั้นเป็นภาษาฮาวาย มาจากคำว่า “อูคู” แปลว่าตัวหมัด “เลเล่” แปลว่ากระโดด รวมกันเป็น “หมัดกระโดด” ซึ่งมาจากการที่คนฮาวายเห็นเวลาคนเล่นอูคูเลเล่แล้วใช้นิ้วเคลื่อนไหวไปมาบนเฟร็ทบอร์ด ให้ความรู้สึกเหมือนดูหมัดกำลังโดดไปมา ยังมีอีกความหมาย ที่แปลให้ฟังดูดีขึ้นว่า “ของขวัญที่ได้มา(จากโปรตุเกส)” แต่ผมว่าหมัดกระโดดนี่แหละคือความหมายออริจินัล ส่วนที่เรียกกันว่า อะคูเลเล่ นั้นคือเรียกผิด และที่เรียก อูกูเลเล่ ก็ผิดเช่นกันเนื่องจากภาษาฮาวายไม่มีกอไก่

2. อูคูเลเล่นั้นไม่ได้ถือกำเนิดที่ฮาวาย แต่มาจากเกาะ Madeira ประเทศโปรตุเกส และมีชื่อว่า Machete de braga ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประจำเกาะนี้ ช่วงปี 1879 ที่นั่นเกิด ภัยแล้งขึ้น เกษตรกรทำไร่ไม่ได้ พอดีกับเป็นช่วงที่ฮาวายต้องการแรงงาน เพราะประชากรลดลงมากหลังติดโรคภัยไข้เจ็บจากชาวตะวันตกที่เข้ามาเยือน (คนฮาวายไม่มีภูมิ) เมื่อจะพัฒนาประเทศก็ขาดแรงงาน ฮาวายจึงอ้าแขนรับชนชาติต่างๆ ให้เข้ามาทำงานไร้อ้อย สร้างผลิตผลน้ำตาล ส่งออกไปขายให้อเมริกา(ตอนนั้นฮาวายยังเป็นประเทศ) ชาว Madeira ซึ่งที่เกาะเขามีภูมิประเทศ และภูมิอากาศคล้ายๆ ฮาวาย จึงพากันย้ายถิ่นฐานมาทำงาน และในการรอนแรมบนเรือยาวนาน 4 เดือน เขาก็นำเครื่องดนตรีมาขับกล่อมด้วย หนึ่งในนั้นคือบรรพบุรุษของอูคูเลเล่นี่เอง

3. สามผู้ริเริ่มสร้างอูคูเลเล่คือชาวโปรตุเกส ที่พอหมดสัญญาทำไร่ ก็ใช้วิชาชีพช่างไม้ที่ติดตัวมา สร้างเครื่องดนตรีที่ชื่ออูคูเลเล่ขาย เขาทั้งสามคือ Manuel Nunes, Jose Santo และ Augusto Dias ซึ่งอูคูเลเล่ที่ทั้งสามสร้าง ในปัจจุบันคือแรร์ไอเท็มราคาสูง ที่คนสะสมอูคูเลเล่ถวิลหา ซึ่งยุคต่อมาศิษย์ของ Nunes ก็มาก่อตั้ง Kamaka สำนักอูคูเลเล่ที่ปัจจุบันนี้ มีอายุ 101 ปีแล้ว และนับเป็นผู้สร้างอูคูเลเล่ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังไม่เลิกทำ ปัจจุบันฮาวายได้ยกย่องให้ Kamaka เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ฮาวายไป ส่วนต้นตำรับทั้งสามได้ยุติการผลิตไปนานแล้ว จะมีก็แต่ Nunes ซึ่งมีบริษัทแคนาดาซื้อขื่อไปใช้ผลิตอูคูเลเล่ที่จีน แล้วตีตราขลังขาย ทว่าไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่

4. พระราชา Kalakau’a ทรงมีพระประสงค์จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเทศฮาวายดูมีวัฒนธรรม เพื่อไม่ให้ชาติตะวันตกมายึดครอง ในยุคล่าอาณานิคม หนึ่งในสิ่งที่ทรงทำคือการนำอูคูเลเล่มาเป็นเครื่องดนตรีแห่งชาติ แล้วรื้อฟื้นระบำฮูล่า ซึ่งนิยมใช้อูคูเลเล่เล่นเพลงประกอบการเต้น จนในที่สุดอูคูเลเล่ก็เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของฮาวายไป ทว่าหลังพระองค์สวรรคต ฮาวายก็ถูกอเมริกายึดไปเป็นเมืองขึ้นจนได้ ภายหลังที่ฮาวายขึ้นต่ออเมริกาแล้ว ก็มีการนำอูคูเลเล่ เพลง และวัฒธรรมฮาวาย ไปเผยแพร่ที่อเมริกาแผ่นดินใหญ่ในงาน Panama Pacific World Exposition ที่ซานฟรานซิสโกมนปี 1915 ผู้คนชอบใจจนเกิดกระแสอูคูเลเล่บูมขึ้นในเวลาต่อมา

5. อูคูเลเล่ได้รับความนิยมมากในยุค 1920’s เพราะสมัยนั้นเวลาจะฟังเพลงต้องไปดูแสดงสด ไม่ใช่ทุกคนจะมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงเพราะมันแพงและไฮโซมาก อูคูเลเล่จึงเป็นทางออกที่ทำให้ใครๆ ก็ครื้นเครงกับเสียงเพลงได้เอง โดยเขาจะมีอูคูเลเล่ใช้คู่กับโน๊ตเพลงของเพลงที่ออกใหม่ เวลาจะฟังก็เล่นฟังกันเอง ส่วนศิลปินที่ไปออกวิทยุก็พกอูคูเลเล่ไปออกรายการสด เล่นสด ร้องสด สะดวกสบาย มีอยู่ช่วงหนึ่ง Martin ยังผลิตอูคูเลเล่เยอะกว่ากีตาร์ซะอีก จนมาสู่ยุควิกฤติเศรษฐกิจช่วง 1929 ต่อเนื่องด้วยสงครามโลกครั้งที่สอง อูคูเลเล่ก็ค่อยๆซบเซาลงไป

6.อูคูเลเล่กลับมาใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นมีการคิดค้นสิ่งที่เรียกว่าพลาสติก จึงสามารถสร้างอูคูเลเล่ด้วยพลาสติกได้ราคาถูก และทำในโรงงานได้ทีละจำนวนมาก เกิดกระแสฮิต แต่จะฮิตในหมู่เด็กๆ และเยาวชนมากกว่า ในช่วงปี 60’s มีศิลปินแนวตลกขบขัน Tiny Tim เล่นอูคูเลเล่โคตรเก่ง แต่ทำตัวตลกแบบเพี้ยนๆ สร้างภาพลักษณ์บวมๆ ให้คนหัวเราะอูคูเลเล่ ก่อนที่การมาถึงของ The Beatles จะทำให้กีตาร์กลายเป็นเครื่องดนตรีกระแสหลัก แล้วอูคูเลเล่ก็หายเข้ากลีบเมฆไป คนที่โตมุคนั้น มักเห็นอูคูเลเล่เป็นของเล่นมากกว่าเครื่องดนตรีดีๆ

7. อูคูเลเล่กลับมาอีกครั้งในยุคนี้ มาจากสามแรงดันใหญ่ๆ อย่างแรกคือการนำอูคูเลเล่มาเล่นในรูปแบบทันสมัยโดยศิลปินรุ่นใหม่ นำโดย Jake Shimabukuro ศิลปินมือหนึ่งของฮาวาย ที่ทำให้วัยรุ่น คนรุ่นใหม่เห็นความแนวของอูคูเลเล่ บวกกับแรงดันที่สองพลังของ YouTube ที่ทำให้คนทั้งโลกได้เห็นเขาเล่นอูคูเลเล่มในรูปแบบเร้าใจได้ทั่วถึง จนเกิดแรงบันดาลใจอยากเล่นบ้าง ซึ่งแรงดันที่สามคืออูคูเลเล่ส่ยพันธุ์ใหม่ที่ดีไซน์อเมริกาแล้วผลิตจากจีน ซึ่งทำให้อูคูเลเล่หาได้ง่ายขึ้น ในราคาที่จับต้องได้ แม่คุณภาพจะสู้ของฮาวายไม่ได้ แต่ก็เล่นได้โอเคอยู่ ตอนหลังโรงงานจีนก็ผลิตออกมาเองเต็มไปหมด ทำให้อูคูเลเล่ราคาไม่แพงมีมากมาย แต่ต้องเลือกดีๆ

8. อูคูเลเล่เล่นเป็นง่าย แต่เล่นให้ลึกล้ำและเร้าใจยากมาก เพราะมันมีขีดจำกัดทางดนตรี James Hills ศิลปินอูคูเลเล่ชื่อดังเคยบอกไว้ว่า พวกเรามีที่วิ่งเล่นน้อยกว่ากีตาร์ ผมก็ขอเสริมว่าถ้ามีที่วิ่งเล่นจำกัด เราก็ต้องวิ่งให้สุดลีลาไปเลย ทั้งนี้มีคนบอกให้ไปเล่นกีตาร์แทนเถอะ ทว่าผมมีความเห็นว่าเราสามารถเล่นทั้งกีตาร์และอูคูเลเล่ได้หมด ไม่ต้องเลือกเพราะเราหยิบเอามาเล่นพร้อมกันไม่ได้ ต้องหยิบมาเล่นทีละตัว ซึ่งย่านเสียงแหลมๆ ของอูคูเลเล่ก็เป็นสิ่งที่กีตาร์ที่มีเสียงกว้างอบอุ่นกว่าไม่มี ซึ่งผมว่ามาอยู่ด้วยกันมันเติมเต็มกันเสียมากกว่า บางเพลงอยากหวานๆ น่ารักๆ เราใช้อูคูเลเล่ บางเพลงอยากให้ดุดันก็ใช้กีตาร์ หรือหากอยากครบเครื่องก็เล่นสองคน คนละอย่างพร้อมกันแบบวง Fulare pad ของญี่ปุ่นก็เข้าท่าดี

9. เวลาเลือกซื้ออูคูเลเล่ ถ้ามีงบถึง แนะนำให้เลือกตัวดีๆ ไปเลย เพราะของที่ดีขึ้น จะเล่นง่ายขึ้น เสียงดีขึ้น วัสดุดีขึ้น สร้างปราณีตขึ้น และแน่นอนสวยงามขึ้น ซึ่งมือใหม่มักจะดูไม่ออก ฟีลไม่ได้ว่ามันดีกว่ากันอย่างไร ส่วนมากมักเลือกตัวถูกที่สุด นั่นมักทำให้การหัดเล่นไม่ประสบความสำเร็จ เพราะของคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ก็เสมือนซื้อจักรยานที่เบรคไม่อยู่ ล้อยางรั่ว โครงเบี้ยว เอาไปขี่ก็คงไม่สุนทรีย์ ในที่สุดจอดทิ้ง ผุพัง อูคูเลเล่ก็เช่นกัน ตัวที่ราคาย่อมเยาว์และดีก็มีแต่น้อยมาก และที่ว่าดีคือดีสมราคา ผมเคยอ่านหนังสือวิ่งมีการแนะนำว่าถ้ามีงบถึงให้เลือกรองเท้าที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เข่าจะได้ไม่เสีย การเลือกอูคูเลเล่ก็เช่นกัน เพราะถ้าได้ของไม่ดีมา เจ็บมือ เสียงไม่เพราะ โน๊ตไม่ตรง สายเพี้ยน สัมผัสไม่ถนัดมือ เราจะเล่นไม่ได้ดีเท่าที่ควร อาจเลิกเล่นก่อนครับ

10. อูคูเลเล่ เล่นเพลงสไตล์อะไรได้บ้าง? คำตอบคือทุกสไตล์ มันอยู่ที่คนเล่นมากกว่าที่จะเอาไปเล่นแบบไหน เหมือนกับเวลาหยิบดินสอขึ้นมา แล้วถามว่าดินสอนี้เขียนอะไรได้บ้าง ผมก็จะตอบว่าอยู่ที่คุณจะเขียนอะไร เขียนเก่งไหม ถ้าวาดรูปคุณวาดสวยก็ดูดี วาดไม่สวยก็ไม่มีใครชื่นชม เขียนเรื่องสนุกคนก็ติดตาม เขียนเบื่อๆ คนก็ไม่อ่าน อูคูเลเล่ก็เช่นกัน และถ้าถามว่าใครเล่นได้บ้าง ผมก็บอกได้เลยว่าทุกคนทุกวัย เพราะผมมีคนมาเรียนอูคูเลเล่ด้วย ตั้งแต่ 8 ขวบ ถึง 75 ขวบ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ขอแค่รักดนตรี อยากเล่นดนตรี และมีเวลาให้ตัวเองสักนิด ก็เล่นได้แล้วครับ

ใครสนใจจะเล่น ง่ายนิดเดียว มาเลือก มาถามเกี่ยวกับอูคูเลเล่ ณ ที่ๆ มีแต่คนเอาจริงเรื่องอูคูเลเล่ที่ Kumabee Ukulele Paradise สวรรค์ของคนรักอูคูเลเล่ สิครับ

www.facebook.com/Kumabeeuke

email : sales@ribbee.com

Website : www.ukeparadise.com

Website : www.ukulele.asia

Shop : 55 ทองหล่อ ชั้น 2 

โทร 096 234 6088

แล้วพบกันนะครับ


ปล. ข้อมูลทั้งหมดไม่ไดแปลมาจากไหน แต่ดึงมาจากสิ่งที่รับรู้เองผ่านทุกประสาทสัมผัสตลอดเกือบ 10 ปีที่คลุกคลีกับอูคูเลเล่ไม่เว้นสักวัน เพราะมันคือชีวิตผม

นางแบบ น้องปิง
อูคูเลเล่ aNueNue Rainbow Series Star Concert

Back to blog